ครม. ไฟเขียวหักภาษีบริจาคสภากาชาดไทย 2 เท่า
ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย)
วันที่ 15 เมษายน 2563 นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการต่อไป กค. เสนอว่า
1. สภากาชาดไทยเป็นองค์กรสาธารณกุศลเพื่อมนุษยธรรมตามหลักการกาชาดสากล มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วย บาดเจ็บบรรเทาทุกข์ในเหตุการณ์สาธารณภัย โดยไม่เลือกเชื้อชาติ สัญชาติ ลัทธิ ศาสนา โดยถือกำเนิดเมื่อปี พ.ศ. 2436 การดำเนินงานสภากาชาดไทยมีสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานงานการดำเนินกิจการเหล่ากาชาดจังหวัด และกิ่งกาชาดอำเภอ ให้สามารถสนับสนุนภารกิจของสภากาชาดไทยอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรในนามของ “เหล่ากาชาดจังหวัด” ซึ่งมีหน้าที่บรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัย และราษฎรที่ยากจนในท้องถิ่นทุรกันดาร ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมกิจการอนุกาชาด อาสากาชาด บริการโลหิต และบริการดวงตา
2. โดยการดำเนินกิจการของสภากาชาดไทยมีแหล่งเงินทุนประกอบด้วย เงินจัดสรรให้โดยตรงจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ ค่าบำรุง ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินการ รวมถึงดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสภากาชาดไทย และโดยที่มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทย พ.ศ. 2461 บัญญัติให้สภากาชาดไทยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กรรมการสภากาชาดไทยจัดการเรี่ยไรในหนทางต่าง ๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อรับเงินมาเป็นทุนดำเนินกิจการของสภากาชาดไทย
3. ดังนั้น เพื่อช่วยส่งเสริมให้มีการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทยซึ่งเป็นหน่วยงานองค์กรสาธารณกุศลตามหลักการกาชาดสากล อันจะช่วยในการดำเนินงานของสภากาชาดไทย ซึ่งมีภารกิจด้านบริการทางการแพทย์และสุขอนามัยของประชาชนเป็นหลักสำคัญ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมสุขภาพอนามัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น เห็นควรกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการบริจาคเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสภากาชาดไทย จึงเห็นควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่บุคคลธรรมดา บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับการบริจาคเงิน หรือทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย ทั้งนี้ มาตรการภาษีดังกล่าวสำหรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากรให้แก่สภากาชาดไทย ที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 กค. จึงได้ยกร่างพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ขึ้น
4. กค. ได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยรายงานว่ามาตรการทางภาษีดังกล่าวส่งผลให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีลดลงตลอดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ประมาณ 180 ล้านบาท แต่มีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
4.1 ส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการให้บริการสภากาชาดไทย ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพด้านการสาธารณสุขของประเทศให้ดีขึ้น และลดงบประมาณของรัฐ
4.2 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงินของสภากาชาดไทย เพื่อนำไปใช้สนับสนุนบริการด้านสาธารณสุขให้เกิดความทั่วถึง และประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น
4.3 ประชาชนได้รับบริการด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกาชาดสากล
4.4 ช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านสาธารณสุข จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. บุคคลธรรมดาที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย สามารถหักลดหย่อนได้เป็นจำนวน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บริจาค แต่เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่บริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้แก่สภากาชาดไทย สามารถหักรายจ่ายได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่บริจาค ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็นเงินหรือทรัพย์สิน แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาสำหรับโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ และรายจ่ายที่ได้จ่ายในการจัดสร้างและการบำรุงรักษาสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใด ๆ หรือสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ หรือสนามกีฬาของทางราชการแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ และรายจ่ายเพื่อการศึกษาหรือเพื่อการกีฬา
3. เงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินหรือขายสินค้าหรือการกระทำตราสารที่มาจากการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทยของบุคคลธรรมดา และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่บุคคลธรรมดาและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สิน หรือการขายสินค้า หรือสำหรับการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการบริจาคให้แก่สภากาชาดไทย โดยผู้โอนจะต้องไม่นำต้นทุนของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีดังกล่าวมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือภาษีเงินได้นิติบุคคล
4. ช่องทางการบริจาคที่ได้รับการยกเว้นรัษฎากร การบริจาคผ่านระบบอิเล็อทรอนิกส์ (e-Donation) ของกรมสรรพากร และ 5. ระยะเวลา สำหรับการบริจาคที่ได้กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ